อุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เครนและวิธีป้องกัน

ในแวดวงอุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมการสื่อสาร และอุตสาหกรรมการขนส่ง เครน นับเป็นฟันเฟืองที่มีความสำคัญในการปฏิบัติงานเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเครื่องจักรเฉพาะทางที่ช่วยผ่อนแรงมนุษย์ในการเคลื่อนย้ายสิ่งของที่มีน้ำหนักได้อย่างมหาศาล ทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเครนมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก หากใช้งานอย่างไม่ระมัดระวัง อันตรายจากเครนอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตของผู้ปฏิบัติงานได้ ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการใช้เครนทุกครั้ง มาดูอุบัติเหตุที่เกิดจากเครนและคำแนะนำเพื่อลดโอกาสการเกิดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เครน

อุบัติเหตุจากการใช้งานเครนในสภาวะที่ไม่ปลอดภัย

10% ของอุบัติเหตุและอันตรายจากเครนนั้นเกิดจากการใช้งานในสภาวะที่ไม่ปลอดภัย โดยเราสามารถแบ่งสภาวะที่ไม่ปลอดภัยออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
  1. เครนอยู่ในสภาวะไม่ปลอดภัย เช่น ระบบเบรคไม่สมบูรณ์
  2. หน้างานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย เช่น
    • ทางวิ่งมีพื้นผิวถนนที่ขรุขระ เป็นหลุม เป็นบ่อ
    • การปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง
    • สภาพดินในพื้นที่ปฏิบัติงานไม่แข็งแรง มีลักษณะอ่อนยวบ ทำให้เครนเคลื่อนที่ได้ไม่สะดวกจนอาจเกิดอุบัติเหตุได้
  3. ผู้ปฏิบัติงานอยู่ในสภาวะที่ไม่ปลอดภัย เช่น ไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยหรือใส่ไม่ครบ

อุบัติเหตุจากการปฏิบัติงานที่ไม่ปลอดภัย

นอกจากสภาวะที่ไม่ปลอดภัยแล้ว การปฏิบัติงานโดยขาดความรอบคอบและไม่ระมัดระวัง ก็ส่งผลต่อความปลอดภัยในการใช้เครนและสร้างความเสียหายได้อย่างมหาศาลเช่นกัน โดยความประมาทเลินเล่อนับเป็น 88% ของสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจากเครนเลยทีเดียว เราสามารถแบ่งการปฏิบัติงานที่ไม่ปลอดภัยได้ 3 ประเภท ดังนี้
  1. ผู้ปฏิบัติงานขาดความรู้ การขาดความรู้เกี่ยวกับการใช้งานเครนและความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน นับเป็นสาเหตุที่ร้ายแรงและสร้างความเสียหายได้มาก เช่น
    • ขาดความรู้เกี่ยวกับการบังคับเครน
    • ขาดความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ผูกมัด
    • คำนวณขนาดแผ่นรองขาผิดพลาด
  2. ผู้ปฏิบัติงานขาดความระมัดระวัง กรณีนี้หมายถึงตัวผู้ปฏิบัติงานมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานเครนเป็นอย่างดี แต่ขาดความระมัดระวังระหว่างปฏิงานจนนำไปสู่อุบัติเหตุในที่สุด เช่น
    • ไม่สำรวจพื้นที่ก่อนปฏิบัติงานจริง
    • ใช้เครนเกิดขีดความสามารถที่ผู้ผลิตกำหนดไว้
    • ปฏิบัติงานด้วยการเร่งรีบ ลดทอนขั้นตอน
    • ไม่ใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย
    • ขนาดสมาธิหรือหยอกล้อกันระหว่างปฏิบัติงาน
  3. ผู้ปฏิบัติงานมีทัศนคติไม่ถูกต้อง ในที่นี้หมายถึง ผู้ฏิบัติงานมีความเชื่อว่าอุบัติเหตุเป็นเรื่องของโชคชะตาฟ้าลิขิต จึงไม่ได้เตรียมวิธีป้องกัน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว อุบัติเหตุจากเครนเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ มีเพียงแต่ภัยธรรมชาติ เช่น ฝนตก พายุ ลมแรง และน้ำท่วม เท่านั้นที่เราไม่สามารถป้องกันได้ และนับเป็นเพียง 2% เท่านั้น

วิธีป้องกันอุบัติเหตุและอันตรายจากการใช้เครน

ผู้เกี่ยวข้องสามารถเพิ่มความปลอดภัยในการใช้เครน เพื่อป้องกันอันตรายจากรถเครนที่อาจสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน อวัยวะและชีวิตของผู้ปฏิบัติงานได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

อุบัติเหตุจากการใช้งานเครนในสภาวะที่ไม่ปลอดภัย

    1. ตรวจสอบบริเวณพื้นที่ปฏิบัติงาน
    2. ผู้ปฏิบัติงานสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยตลอดการปฏิบัติงาน
    3. ผู้ปฏิบัติงานมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย มีสติสัมปัชชัญญะ พร้อมทำงาน
    4. ตรวจสอบตำแหน่งคันบังคับและคันเกียร์ให้อยู่ตำแหน่งว่างก่อนสตาร์ทเครื่อง
    5. ตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพพร้อมปฏิบัติงาน

อุบัติเหตุจากการปฏิบัติงานไม่ปลอดภัย

  1. ศึกษาคู่มือการใช้งานเครนอย่างละเอียดและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
  2. ประชุมเพื่อวางแผนก่อนเริ่มปฏิบัติงาน
  3. ควรมีผู้ให้สัญญาณเมื่อปฏิบัติงานในพื้นที่แคบ
  4. ควรป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาในพื้นที่ปฏิบัติงาน
  5. ไม่ควรวางสิ่งของหรือให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องนั่งบนเครนขณะปฏิบัติงาน
การที่ผู้ปฏิบัติงานคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้เครนเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกๆ ขณะปฏิบัติงาน ไม่เพียงแต่จะทำให้งานสำเร็จลุล่วงตามระยะเวลาที่กำหนดไว้แล้วเท่านั้น แต่ยังช่วยลดโอกาสการเกิดความเสียหายของทรัพย์สินและชีวิตซึ่งไม่อาจสามารถประเมินค่าเป็นตัวเงินได้อีกด้วย